วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไม่รับลูกค้า‘ส่งเสริมประกันฯ

ไม่รับลูกค้า‘ส่งเสริมประกันฯ’รพ.-อู่ป่วน!หวั่นชวดค่าซ่อม-ค่ารักษา หลัง “คปภ.” สั่งหยุดรับประกันชั่วคราว พร้อมส่งคณะกรรมการเข้าควบคุม “บ.ส่งเสริมประกันภัย” เริ่ม ส่อเค้าบานปลายแล้ว!! ทั้งอู่-โรงพยาบาลพากันป่วน! ทั้งที่ไม่เคยมีปัญหาค้างคาเรื่องค่าสินไหม เหตุแตกตื่นคำสั่งทางการ ต่างพากัน “งดรับ” ลูกค้าประกันภัยจากบริษัทส่งเสริมฯ ทาง “คณะกรรมการ” ยืนกรานมีอำนาจจ่ายค่าสินไหมให้ได้เฉพาะเจ้าของรถ ผู้เอาประกัน หรือผู้ประสบภัยตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น ขณะอู่ซ่อมรถทางเหนือระส่ำหนักส่งหนังสือเวียนห้ามรับงานจาก บ.ส่งเสริม!! แหล่งข่าวจากผู้ประกอบ การอู่ซ่อมรถรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกแถลงผ่านเว็บไซต์ www.oic.or.th โดยระบุว่า สำนักงาน คปภ. ตรวจพบว่า บริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด (บริษัทฯ) มีการดำเนินการในลักษณะ ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน โดยไม่มีระบบควบคุมการจำหน่าย จ่ายแจกกรมธรรม์ประกันภัยที่ครบถ้วนรัดกุม ไม่มีระบบการสอบยันกรมธรรม์ประกันภัยที่จำหน่าย และเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้ถูกต้องตรงกัน มีการรับประกันภัยโดยไม่บันทึกบัญชี หรือบันทึกบัญชีล่าช้า ประกอบกับไม่มีการตรวจสอบการลงบันทึกบัญชี และสมุดทะเบียนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายมีการบันทึกบัญชีโดยใช้เกณฑ์เงินสด ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงิน ทำให้ไม่สะท้อนฐานะการเงินที่แท้จริง ขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ คปภ. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่ง พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 สั่งให้บริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป และช่วง ระยะเวลาดังกล่าว บริษัทต้องเร่งดำเนินการ โดยจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพโดยคปภ.ได้ส่งคนเข้าไปควบคุมดูแลกิจการในขณะนี้อย่างเข้มงวด แหล่งข่าวรายนี้ กล่าวว่า จากมาตรการของคปภ.ที่เข้าควบคุมดังกล่าวถือว่า กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ไปหรือไม่ เพราะเกรงว่าจะทำให้เหตุการณ์อาจลุกลามบานปลาย จนทำให้จากบริษัทที่ยังอยู่ในสภาพดีๆกลายเป็นบริษัทแย่ลงทันตาเห็นก็ได้ เพราะขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบบานปลายให้อู่ต่างพากันงดรับงานซ่อมรถลูกค้าของบริษัทส่งเสริมฯเข้ามาจำนวนมาก โดยต่างหวั่นวิตกว่าจะไม่ได้เงินค่าซ่อมรถของลูกค้าส่งเสริมประกันภัยที่ได้จัดซ่อมไปแล้ว จึงทำให้เจ้าของอู่ต่างไม่กล้ารับซ่อมรถที่เข้ามาซ่อมใหม่ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้เงินค่าซ่อมเก่าและค่าซ่อมใหม่ไปพร้อมกัน ทั้งๆที่กรณีของบริษัทส่งเสริมประกันภัยนั้นไม่ได้มีปัญหาติดค้างค่าสินไหมกับอู่ที่ผ่านมาแต่อย่างใด หรือกระทั่งมีปัญหาขาดสภาพคล่องและมีปัญหาเงินกองทุนเหมือนกับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย หรือหลายบริษัทที่ปิดกิจการลงไปแล้วก่อนหน้านี้แต่อย่างใด เพียงแต่ติดปัญหาการลงบัญชีไม่ถูกต้องเท่านั้นเอง ซึ่งคปภ.ไม่น่าจะเข้าไปควบคุมถึงเรื่องการจ่ายสินไหมขนาดนี้ เพราะถือเป็นเส้นเลือดใหญ่โดยเฉพาะค่าสินไหมถือเป็นตัวเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย โดยเฉพาะในประเด็นเดียวที่คปภ.ได้มีประกาศนายทะเบียนเรื่องกำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัทส่งเสริมประกันภัยจำกัด ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวพ.ศ.2555 ในข้อ 4.1 ได้ระบุให้การจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยโดยตรงเท่านั้น จึงจะเบิกค่าสินไหมทดแทนได้ โดยคณะกรรมการที่เข้าไปควบคุมยืนยันว่า จะต้องเป็นประชาชนที่เป็นเจ้าของรถ หรือเป็นผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยโดยตรงเท่านั้นที่จะเบิกได้ แต่ในกรณีอู่ถือว่าไม่ใช่ จึงปฎิเสธการเบิกจ่ายค่าสินไหมให้กับอู่ ซึ่งขณะนี้ทราบมาว่า คณะกรรมการอู่กลางฯในภาคเหนือได้ทำหนังสือเวียนสมาชิกเขาหมดแล้วว่า ห้ามรับซ่อมงานรถยนต์ของบริษัทส่งเสริมฯ ด้านแหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนก็ประสบปัญหาทำนองเดียวกัน โดยทางโรงพยาบาลต่างปฎิเสธคนไข้ที่เป็นลูกค้าหรือผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยโดยตรงกับบริษัทส่งเสริมประกันภัยกันแล้ว เพราะไม่มั่นใจว่า จะเบิกเงินกับบริษัทได้หรือไม่ หากรักษาคนไข้ที่เป็นลูกค้าไปแล้ว ซึ่งล่าสุดก็ทราบมาว่า ได้มีคนไข้โรงพยาบาลบางแห่งไปขอเบิกเงินค่ารักษาแค่ 312 บาทกับทางบริษัททันทีที่มีข่าวว่า ถูกคปภ.สั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว ปรากฎว่า ได้รับการปฏิเสธจากทางบริษัท เพราะเห็นว่าคณะกรรมการของคปภ.ที่ส่งเข้าไปควบคุมกิจการอ้างว่า ไม่สามารถจ่ายให้ได้เพราะผิดระเบียบ ขนาดบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก็ยังไม่กล้าจ่ายแทนสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้นตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพราะกลัวไปเบิกคืนเอากับบริษัทส่งเสริมฯไม่ได้ ถึงขนาดโรงพยาบาลเอกชนบางโรงได้โทรมาหารือเรื่องนี้ยอมรับว่าจะให้ทำอย่างไรกันดี เพราะมีบางโรงพยาบาลได้ไปตั้งเบิกกับส่งเสริมฯกับบริษัทกลางฯแล้ว แต่บริษัทกลางฯบอกว่า ไม่มีกำหนดจ่าย จนกว่าคปภ.จะเคลียร์ได้ว่า บริษัทจะเบิกคืนได้ไหม ในเมื่อเขาไม่ได้เป็นผู้เอาประกันโดยตรง อนึ่ง ตามรายงานของคปภ.ล่าสุดพบว่า บริษัทขายประกันภาคบังคับหรือประกัน พ.ร.บ.เป็นส่วนใหญ่ โดยใน 4 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีเบี้ยรับรวม 348.44 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา5.61% โดยมีจำนวนกรมธรรม์ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ 5.08 แสนฉบับ แบ่งเป็น กรมธรรม์ทั้งหมดแยกเป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 45 รายประกันอัคคีภัย 213 ราย ประกันสินค้า 59 ราย ประกันภัยพ.ร.บ.5.04 แสนราย ประกันภัยภาคสมัครใจ 4,159 ราย ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน 1 ราย อ้างอิง : นสพ.เส้นทางนักขาย ฉบับที่ 233 ปักษ์แรก ประจำวันที่ 1-15 สิงหาคม 2555 ผู้นำเสนอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น