วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คปภ.วางกฎเหล็ก


คปภ.ผนึกกำลังแบงก์ชาติ- ก.ล.ต.สังคายนาการทำธุรกรรมร่วมระหว่างสถาบันการเงินตลาดทุนประกันภัยชี้มาตรฐานจรรยาบรรณไร้ความหมายถึงเวลาที่ทุกอย่างต้องชัดเจนล่าสุดเตรียมออกกฎเหล็ก "3 P" ตีกรอบแบงก์แยกธุรกรรมให้ชัดทั้งก่อนขายณจุดขายและหลังการขายรวมทั้งแยกบริการทางการเงินให้ชัดขณะเดียวกันบุคลากรจะต้องได้รับการจดทะเบียนรับรองจากทางการอย่างถูกต้อง
จากการที่มีการนำเสนอปัญหาร้องเรียนกรณีการทำธุรกรรมของธนาคาร ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันภัยมายังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือ คปภ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต.ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขา ธิการ คปภ. เปิดเผยกับ "ตลาดวิเคราะห์" ว่า ในกรณีปัญหานี้ที่ผ่านมา ทางการไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในเนื้อหาของการเข้ามาดำเนินธุรกรรมในลักษณะที่เรียกว่า "แบงก์แอสชัวรันส์" เนื่องจากมองว่าธนาคารเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมช่องทางบริการทางการเงินได้เป็นอย่างดี
แต่ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารรวมทั้งตลาดทุนกับธุรกิจประกันภัยนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้การทำประกันภัยประกันชีวิตถูกมองว่ามีความเสี่ยง ทั้งที่ธุรกิจประกันภัยคือการให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนตามความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้กรมธรรม์ประกันภัย ก็ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์การรับฝากเงิน ที่สถาบันรับประกันเงินฝากให้ความคุ้มครอง หากเอาธุรกิจประกันชีวิตประกันภัยไปผูกติดอยู่กับหน่วยลงทุนจะทำให้เกิดความเสี่ยงและปัญหาตามมาในภายหลังได้
นายประเวช มองว่าแนวทางการทำธุรกรรมของภาคการเงิน กำลังมีการพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะการทำธุรกรรมในลักษณะ " Profit Sharing" ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการประกันตามปรกติ แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
"เวลานี้ ที่กำลังทำกันอย่างแพร่หลายก็คือ Unit Link ที่หมายถึง การทำประกันชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งให้ความคุ้มครอง อีกส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกรรม ที่อาศัยมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นตัวกำหนดเท่านั้นไม่ได้มีการลงลึกไปในเนื้อหาให้ชัดเจนว่า อะไรควรอะไรไม่ควร" นายประเวช กล่าว
ดังนั้น หากจะมีการนำเอาผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ประเภทมา ผนึกรวมกัน จึงมีความจำเป็นที่ธนาคารจะต้องมีการแบ่งแยกกันให้ชัดเจนทั้งในรูปแบบและเนื้อหาของผลิตภัณฑ์ โดยทางคปภ. ได้มีการกำหนดมาตรการหรือข้อกำหนดเอาไว้ 3 ขั้นตอนหรือที่เรียกว่า "3 P"
ขั้นตอนแรก Pre Sale คือการบริการก่อนการขาย หมายความว่า ธนาคารจะต้องมีการดูแลเรื่องสถานที่ทำการขายให้ชัดเจนว่า ส่วนรับฝากเงินอยู่ตรงไหน ส่วนขายหน่วยลงทุน อยู่ตรงไหน และส่วนของการขายประกันควรจะอยู่ตรงไหน
เมื่อได้มีการแบ่งแยกแล้วก็จะต้องมีป้ายบ่งบอกที่ชัดเจน มีพนักงานที่ได้รับการจดทะเบียนขึ้นทะเบียนกับทางการอย่างถูกต้อง มีเอกสารการขายที่ถูกต้องชัดเจน รวมทั้งเอกสารจะต้องมีความพร้อมชัดเจนให้ลูกค้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารจะต้องเตรียมความพร้อม
ขั้นตอนที่สอง Point Of Sale บริการ ณ จุดขาย ทางธนาคารจะต้องมีข้อมูลที่ผู้บริโภคเข้าใจง่าย ยกตัวอย่าง กรณีเรื่องผลตอบแทน IRR ควรจะต้องมีการเปิดเผยอย่างถูกต้องไม่คลุมเครือ
ขึ้นตอนที่สาม Post Sale บริการหลังการขาย ที่จะต้องมีการทำความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการอย่างชัดเจน
"ในเรื่องโพสเซล หลังการขาย จะมีไล่ขั้นตอนพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้มีกฎเกณฑ์ออกมา ที่ผ่านมาเราเองมักจะพูดว่าผู้ให้บริการควรจะให้บริการตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจรรยาบรรณ แต่ทางปฏิบัติจริง มันถูกตีความไปตามความเข้าใจของผู้ให้บริการ ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ออกกฎเกณฑ์ออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้บริการควรให้บริการด้วยมาตรฐานอาชีพจรรยาบรรณ แต่ปฏิบัติจริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้น สิ่งที่เราทำจะต้องสะกดให้ชัดเจนว่ามาตรฐานจรรยาบรรณเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้สมกับการคาดหวังของผู้บริการ นั่นคือสิ่งที่เรากำลังหารือกัน ซึ่งจะต้องมีการประชาพิจารณ์กับทางสมาคมฯ ทั้งหมด เมื่อเข้าใจตรงแล้วจึงออกมาเป็นหลักเกณฑ์" นายประเวช กล่าว
ทางด้านนายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของสมาคมฯ ก็คงจะต้องยึดแนวทางที่เป็นมาตรฐานที่ทางการกำหนด ซึ่งหากทางคปภ.ต้องการให้ทางสมาคมฯ ร่วมมือ ตนก็ยินดี และเชื่อว่าหากการทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นของธนาคารหรือของประกันชีวิต หากอยู่ในกรอบกติกามาตรฐานเดียวกัน ตนก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายต้องการให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรม
สำหรับในส่วนของสมาคมประกันชีวิตไทย ตนไม่ได้มองว่า จะยืนอยู่ด้านไหนแม้ว่า กิจการที่ตนเองบริหารอยู่ซึ่งหมายถึงบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จะมีธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นใหญ่อยู่ก็ตาม เพราะกฎกติกา ถ้าหากมีความชัดเจน ไม่ต้องตีความตนก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม และก็เชื่อว่าทางธนาคารก็จะต้องเคารพกฎกติกาที่ทางการจะนำมาให้ปฏิบัติเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การสร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ ตนมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากจะทำให้การวางแผนพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตที่ตนเองเป็นนายกสมาคม ฯ อยู่ สามารถเดินไปข้างหน้าโดยที่ไม่ต้องมากังวลเรื่องกฎระเบียบที่อาจจะทำให้เกิดความสับสน เพราะในเวลานี้ช่องทางการจำหน่าย ของธุรกิจประกันชีวิต แต่ละช่องทางต่างก็มีการพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะในอนาคตข้างหน้า ยังจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการ "รุก" ทางธุรกิจ และการตั้งรับ กรณีการเข้ามาลงทุนของประเทศ
ต่าง ๆ ที่จะต้องมีการปรับปรุงทางด้านกฎเกณฑ์รวมทั้ง แนวทางในการดำเนินธุรกิจให้มีมาตรฐาน อยู่ในระดับสากล
นายสาระ ล่ำซำ กล่าวย้ำกับ "ตลาดวิเคราะห์" อย่างหนักแน่นว่า ตนจะรักษาความเป็นกลาง ไม่คิดว่าจะมีข้อขัดแย้งใด ๆ ในสมาคมฯ โดยตั้งใจอยากจะมาทำงานในเชิงพัฒนามากกว่าการเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
ส่วนทางด้านนางสาวศิริภรณ์ พุทธรักษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ในส่วนของตัวแทน ไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้าไปลดบทบาทของธนาคาร เพียงแต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่ทางสมาคมฯ จะต้องออกมานำเสนอข้อมูล ซึ่งหลังจากนี้ไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต. จะมีข้อสรุปว่าอย่างไร
"ตอนนี้เท่าที่ทราบก็จะต้องรอการทำประชาพิจารณ์กันก่อนระหว่างสมาคมที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่สมาคมประกันชีวิต สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมตัวแทน สมาคมโบรกเกอร์ รวมทั้งสมาคมธนาคารไทย ก็จะต้องมีการเปิดโอกาสได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเท่าที่ดูแนวทางที่คปภ.นำเสนอมา ก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะไม่ได้ถือเป็นการริดรอนการทำธุรกิจของธนาคาร แต่เป็นการวางแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องและชัดเจนขึ้นเท่านั้น" นางสาวศิริภรณ์ กล่าวย้ำอีกครั้ง
ส่วนทางด้านกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิด กล่าวว่า การกำหนดมาตรการดังกล่าว เป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ เพียงแต่ถ้าหากจะให้มีการแบ่งแยกการทำธุรกรรมอย่างชัดเจน จะทำให้ธนาคารต้องใช้บุคลากรมากขึ้น ซึ่งถ้าถามว่ากระทบไหม ก็เป็นที่ชัดเจนว่ากระทบแน่ เนื่องจากตลอดระเวลาที่ผ่านมา หลาย ๆ คนมองว่าธนาคารเป็นช่องทางที่ดี จึงมีการนำเอาผลิตภัณฑ์มาฝากขาย ครั้นเมื่อทำไปแล้วเกิดขายดี มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นบริการหลังการขาย หรือความผิดพลาดเกิดขึ้น
ดังนั้น จากกฎ 3 p ที่กำลังจะมีการนำมาใช้ในอีกไม่นานนี้ จึงเป็น "โจทย์ใหญ่" ของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารที่ประสบความสำเร็จในด้าน "แบงก์แอสชัวรันส์" ก็จะต้องหาแนวทางหรือปรับแนวทางเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
ที่มา: นสพ.ตลาดวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น