วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประกันภัยขยาดรับก่อการร้าย 3 จ.ใต้

ประกันภัยขยาดรับก่อการร้าย 3 จ.ใต้ 09 สิงหาคม 2012 รายละเอียด ตลาดประกันภัยขยาดขายประกันภัยก่อการร้าย หลังถูกรี อินชัวเรอร์ปิดประตูรับเสี่ยงภัย ส่งผลบริษัทประกันภัยงดขายแล้วตั้งแต่ต้นปี ทิพยม้ามืดปักธงให้ลูกค้าซื้อได้ไม่อั้น หวังได้ใจตลาดรายย่อย กวาดเบี้ยก่อการร้ายเพิ่ม 20-30 ล้าน มั่นใจครึ่งปีหลังตลาดประกันภัยรายย่อยคึกคัก หลังกันยายนหมดอายุสัญญา นายจีระพันธ์ อัศวธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยถึงทิศทางการรับประกันภัยใน 3 จังหวัดภาคใต้ ว่า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกือบทุกบริษัทขณะนี้ไม่เปิดขายประกันภัยก่อการร้าย โดยมองว่าเป็นภัยที่เกี่ยวข้องทางการเมือง เห็นได้จากเมื่อเกิดความเสียหายภาครัฐจะเข้ามาเป็นฝ่ายเยียวยาภายหลัง ส่วนจังหวัดอื่นหากจะซื้อประกันภัยดังกล่าวก็มีอัตราเบี้ยที่สูงมาก เนื่องจากอัตราเบี้ยจะคิดตามพื้นที่ ทำเล ที่ตั้ง และลักษณะธุรกิจ ส่วนแบบประกันที่ยังสามารถซื้อเพิ่มได้คือประกันอัคคีภัย (ไฟไหม้) เพียงแบบเดียวเท่านั้น "ต้องยอมรับว่าทั้งโลกและไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่มีบริษัทไหนขายประกันภัยก่อการร้ายแล้ว แต่ก็มีในต่างประเทศซึ่งมีบริษัทประกันภัยต่อหนึ่งเดียว คล้ายกับลักษณะกองทุนอยู่ในตลาดลอยด์ที่ยังรับภัยก่อการร้ายอยู่ โดยส่วนใหญ่ที่รับจะมีทุนประกันภัยมหาศาล เช่น ตึกเอ็มไพร์ สเตต ส่วนตลาดเอเชีย หรือแม้แต่ไทยที่มีมูลค่าทุนประกันต่อกรมธรรม์ไม่สูง จึงไม่อยู่ในพื้นที่ที่เข้ามาให้บริการ" ด้านนายทนงศักดิ์ ศรีเรืองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงขายประกันภัยก่อการร้าย และยังไม่ได้ยกเลิกแบบประกันดังกล่าวเหมือนบริษัทอื่นแต่อย่างใด โดยทั้งหมดขายผ่านตัวแทนกว่า 6,600 คนทั่วประเทศ นายหน้า-โบรกเกอร์เป็นหลัก สำหรับกลุ่มที่ซื้อประกันภัยก่อการร้ายหลักๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น ยังมาจากภาคธุรกิจอันดับ 1 คือ ห้างสรรพสินค้า รองลงมาคือโรงแรมและเสาสื่อสาร เช่น เสาโทรศัพท์ เสาและสายส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ ที่มีการซื้อประกันภัยในแถบจังหวัดสงขลา โดยขายแยกจากประกันอัคคีภัย ซึ่งแบ่งอัตราเบี้ยประกันภัยออกเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ นอกพื้นที่ 3 จังหวัด เริ่มต้นคุ้มครองที่ 1แสน-1ล้านบาท โดยคิดเบี้ยเริ่มต้นที่ 400 ,450 ,500 ,550 ,600 ,650 ,750 ,850 ,950 และ 1,250บาทตามลำดับ ส่วนพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา คุ้มครองเริ่มต้นที่ 1แสน-1ล้านบาท อัตราเบี้ยเริ่มต้น 700, 900, 1100, 1300, 1500, 1700, 1900, 2100, 1300 และ 2,500บาท ตามลำดับ โดยทั้ง 2 กลุ่มบริษัทจะคิดพิกัดเบี้ยเพิ่มทุก 1แสนบาท "พื้นที่ที่มองว่ามีปัญหานั้นน่าจะทำให้ประกันภัยกลุ่มนี้ขยายตัว ทำให้เบี้ยประกันรับตรงเพิ่มขึ้นใกล้เคียง 20-30 ล้านบาท โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะเป็นโอกาสทองของประกันภัยก่อการร้าย ที่ได้รับการสอบถามและซื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง" นายทนงศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ตั้งแต้ต้นปีที่ผ่านมามีบริษัทประกันภัยไม่น้อยหรือเกือบทั้งหมดยกเลิกการขายประกันภัยก่อการร้ายแล้ว ซึ่งหากถามว่าผิดปกติหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช้เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะภัยก่อการร้ายนั้น ท้ายที่สุดจะต้องส่งงานให้กับต่างประเทศหากบริษัทใดซื้อประกันต่อไม่ได้แล้วก็ต้องเลิกขายไป เนื่องจากแบกรับความเสี่ยงไม่ไหว ซึ่งจะต่างจากทิพยที่เน้นตลาดประกันเบ็ดเตล็ดเป็นหลัก โดยจากตัวเลขตั้งแต่ต้นปีก็ยังไม่มีการเรียกเคลมจากการถูกระบุว่าเป็นภัยก่อการร้ายแม้แต่รายเดียว สำหรับสัญญาประกันภัยก่อการร้ายของบริษัท จะครบต่อสัญญาในเดือนกันยายน 2555 โดยสัญญาเป็นแบบต่ออายุปีต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีการซื้อคิดเป็นเบี้ยประกันแล้วเกือบ 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปบริษัทจะเน้นกลยุทธ์การขายประกันภัยในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยจะมุ่งเจาะลูกค้ารายย่อยโดยเฉพาะบ้าน และที่อยู่อาศัยรวมถึงร้านค้าขนาดเล็ก เพราะจากการศึกษาพบว่าประชาชนในพื้นที่มีการตื่นตัวอย่างมาก แม้ที่ผ่านมาตลาดประกันภัยก่อการร้ายยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่สนใจซื้อมากกว่าก็ตาม "ข้อดีของทิพยคือ เราเปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่ต้องการทำประกันภัยก่อการร้าย สามารถทำได้ทั่วประเทศ ขณะที่เบี้ยประกันก็ไม่ถือว่าแพง ซึ่งต่างจากบริษัทอื่นหากยังขายก็จะเปิดขายในพื้นที่ที่ไม่ใช่ 3จังหวัดและ 4อำเภอ" ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มอาคเนย์ กล่าวว่า ทิศทางและนโยบายการรับประกันในเขตพื้นที่ภาคใต้อยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดบริหาร โดยคาดว่าจะชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้ สำหรับพอร์ตงานลูกค้าที่อยู่ทางภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประกันภัยรถยนต์ ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารธนชาต ระบุว่า บริษัทเลิกขายประกันภัยก่อการร้ายแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยให้ข้อมูลตรงกันว่าอาจมีบริษัทประกันไทย 1-2 ราย จาก 50 กว่าบริษัทที่ยังคงขายประกันภัยก่อการร้ายนี้อยู่ เช่นเดียวกับบริษัทวิริยะประกันภัยฯ และกรุงเทพประกันภัย ซึ่งกรมธรรม์ได้เต็มมาตั้งแต่ปลายปี 2554 ที่มา:นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น